วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความเร็วเน็ตประเทศไทย ดาวน์โหลด-อัพโหลดต่างกัน 7 เท่า


หลังเริ่มปี 2010 รู้สึกว่ากระแส 3G ก็ยังโหมอย่างต่อเนื่องทำให้Wimax ที่หลายๆคนในเมืองหลวงตั้งหน้าตั้งตารอเงียบไปได้ในทันที อาจเป็นเพราะผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่หลายๆเจ้าโดดลงมาทำตลาดและเตรียมจับจองสัมปทานก้อนโต ทั้งๆที่ผู้ใช้ทั่วๆไปยังไม่เคยได้รู้จักหรือสัมผัสมันสักครั้ง ถือเป็นการทำตลาดที่ปูทางกันข้ามปีเลยทีเดียว

เอาละครับเรามาเข้าที่เนื้อหาของเราดีกว่า ที่เห็นผมพูดถึงเรื่อง 3G ไปนั้นเพราะมันจะช่วยให้เราสะท้อนได้ถึงมาตรฐานของอินเตอร์เนตในไทยในขนาดนี้ที่ปัจจุบันก็ได้ให้บริการทะลุ 10 MB ไปแล้วแต่ลึกๆแล้วถ้ามองกันดีมาตรฐานในการ ดาวน์โหลด-อัพโหลดกลับมีความต่างกันถึง 7 เท่า น่าแปลกไหมละครับที่ผู้ให้บริการหลายๆเข้ากับแข่งขันแต่เรื่องความเร็วแต่ตรงจุดนี้กับกลายเป็นว่าไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรจะเป็น ลองมาดูผลที่สถาบัน คุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมมือกับ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย แถลงผลข้อมูลโครงการ “สำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ปี 2552” ขึ้น โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการของผู้ประกอบการ ด้านความเร็วที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเปิดให้ผู้ใช้เข้าไปทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์หลัก http://www.speedtest.or.th/ และเว็บไซต์ชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการ

จากการรวบรวมข้อมูลการทดสอบตั้งแต่วันแรก คือวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 รวม 99 วัน มาวิเคราะห์ประมวลผล พบว่า จำนวนทดสอบ speedtest ทั้งหมดมี 1,287,613 ครั้ง แบ่งเป็นผู้ใช้บริการจาก TOT ร้อยละ 34 TRUE ร้อยละ 25 BB/MAXNET ร้อยละ17 และไม่ระบุผู้ให้บริการร้อยละ 20 ผลการทดสอบความเร็ว พบว่า ในการดาวน์โหลด อัตราความเร็วที่ได้ เรียงตามลำดับคือ TRUE ร้อยละ 83 SAMART ร้อยละ 78 ISSP ร้อยละ 75 3BB/MAXNET ร้อยละ 71 CSLOXINFO ร้อยละ 71 TOTร้อยละ 66 INETร้อยละ 63 BEENETร้อยละ 62 CATร้อยละ 43 และ DTAC ร้อยละ 34
หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายใหญ่ด้วยกับพบว่า TRUE มีความเร็วในการดาวน์โหลดมากที่สุด รองลงมาคือ 3BB/NET TOT และ CAT ขณะที่หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายเล็กพบว่า SAMART มีความเร็วในการดาวน์โหลดมากที่สุด รองลงมาคือ ISSP CSLOXINFO และ INET
สำหรับความเร็วในการอัพโหลด เรียงตามลำดับคือ ISSP ร้อยละ 75 SAMART ร้อยละ65 BEENET ร้อยละ 51 INET ร้อยละ 50 CAT ร้อยละ24 CSLOXINFO ร้อยละ 20 TOT ร้อยละ 14 TRUE ร้อยละ 14 3BB/MAXNET ร้อยละ10 หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายใหญ่ด้วยกันพบว่า CAT มีความเร็วในการอัพโหลดมากที่สุด รองลงมาคือ TOT TRUE และ 3BB/MAXNET ขณะที่หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ให้บริการรายเล็กพบว่า ISSP มีความเร็วในการอัพโหลดมากที่สุด รองลงมากคือ SAMART BEENET และ INET

ผลสรุปในภาพรวมพบว่า ความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ที่ร้อยละ 34-83 และความเร็วในการอัพโหลดอยู่ที่ร้อยละ 10-75 ซึ่งผลการทดสอบนี้เป็นความเร็วในการดาวน์โหลดและอัพโหลดข้อมูลภายในประเทศ
นาย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้ว โดย สบท. และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยจัดโครงการนี้ขึ้นก็เพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งเห็นได้ว่า ความเร็วในการอัพโหลดและดาวน์โหลดข้อมูลมีความแตกต่างกันมาก โดยความเร็วในการอัพโหลดข้อมูลต่ำกว่าการดาวน์โหลดถึง 6-7 เท่า ขณะที่ในอนาคต การสื่อสาร 2 ทางเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารทางไกล เช่น การจัดประชุมทางไกล เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับให้มีคุณภาพที่สอดคล้องกันในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องของการให้บริการนั้นประเทศไทยยังมีทางเลือกในการใช้บริการน้อย ต่างประเทศมีผู้ให้บริการถึง 1,000 บริษัท ขณะที่ประเทศไทยหากอยู่ห่างจากชุมสายของผู้ให้บริการเกินกว่าระยะ 4 กิโลเมตรก็จะมีปัญหาคุณภาพ ทางออกที่เป็นไปได้เฉพาะหน้าก็คือ ผู้ประกอบการควรปรับลดราคา โดยเก็บค่าบริการตามคุณภาพบริการที่ผู้บริโภคสามารถใช้ได้จริง หรือขยายจุดชุมสายให้มากขึ้น

ผอ.สบ ท. กล่าวต่อไปว่า สำหรับความเร็วในการดาวน์โหลดและอัพโหลดข้อมูลอาจเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจของ ผู้บริโภค แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือการสร้างมาตรฐานการให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น มีกรรมการกลางในการกำหนดมาตรฐานการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งในด้านความเร็วและความเสถียร โดยต้องมีการหารือร่วมกันระหว่าง กทช. สบท. ผู้ประกอบการ นักวิชาการและผู้บริโภค เพื่อร่วมกันพิจารณาต่อไป โดยจะเริ่มมีการจุดประเด็นนี้ในเวทีผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ปี 2552 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 ธันวาคม นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์

“สำหรับ โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ในปีหน้าเราจะพัฒนาให้ผู้บริโภคที่เข้ามาทดสอบความเร็วสามารถบันทึกเป็น ข้อมูลของตัวเองเป็นสถิติได้ว่า ความเร็วเฉลี่ยที่เราใช้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดทั้งเดือนหรือทั้งปีนั้น เป็นอย่างไร เพื่อสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้” ผอ.สบท. กล่าว